Main Menu
 

Search  

Side Page

 สถิติวันนี้ 19 คน
 สถิติเมื่อวาน 17 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
527 คน
2338 คน
88417 คน
เริ่มเมื่อ 2009-04-29

   

    

 

 

 

 

Building Inspection Team

 

อาคารที่ต้องตรวจสอบ

อาคารที่ต้องตรวจสอบมี 9 ประเภท ได้แก่

  1. อาคารสูง (อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ที่มีความสูงตั้งแต่ยี่สิบสามเมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับ พื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด)
  2. อาคารขนาดใหญพิเศษ (อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียว หรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่หนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไป)
  3. อาคารชุมนุมคน (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อประโยชน์ ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป)
  4. โรงมหรสพ (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมี วัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม)
  5. โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตังแต่แปดสิบห้องขึ้นไป
  6. อาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับ หลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ ละครอบครัว) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่      2,000 ตารางเมตรขึ้นไป สำหรับอาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวมที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับการผ่อนผันเรื่องกำหนดเวลาการตรวจสอบคือ
                 - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันในหลังเดียวกันไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่                25 ตุลาคม 2555
                 - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันในหลังเดียวกันเกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่                    25 ตุลาคม 2553
  7. อาคารโรงงาน ที่สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
  8. ป้าย สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่    50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่        25 ตารางเมตรขึ้นไป
  9. สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

                 ทั้งนี้ อาคารทั้ง 9 ประเภท (เว้นแต่อาคารตามข้อ 6 ที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ต้องถูกตรวจสอบและส่ง รายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2550 สำหรับกรณีพื้นที่นอกเขตควบคุมอาคาร (พื้นที่ที่ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง) อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบมี  4 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพ

รายละเอียดการตรวจสอบ

การตรวจสอบใหญ่
               เป็นการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและระบบทุกระบบ ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยให้กระทำทุก   5 ปี ในการตรวจสอบใหญ่ทุกครั้ง ผู้ตรวจสอบต้องจัดทำแผนต่างๆ ดังนี้

             (1) แผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร รวมทั้งคู่มือปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวให้แก่ เจ้าของอาคารเพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษา และการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคาร

             (2) แผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีรวมทั้งแนวทางการตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้แก่ เจ้าของอาคาร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี
             

การตรวจสอบประจำปี
                เป็นการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีที่ผู้ตรวจสอบได้จัดทำไว้ในการตรวจสอบใหญ่ การตรวจสอบประจำปีให้กระทำทุกปี

รายการที่ต้องตรวจสอบ
                     กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของอาคารต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ต้องทำการตรวจสอบสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ได้แก่
    (1.1) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
    (1.2) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
    (1.3) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
    (1.4) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
    (1.5) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
    (1.6) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
    (1.7) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร

(2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร ได้แก่
    (2.1) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
        (2.1.1) ระบบลิฟต์
        (2.1.2) ระบบบันไดเลื่อน
        (2.1.3) ระบบไฟฟ้า
        (2.1.4) ระบบปรับอากาศ

    (2.2) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
        (2.2.1) ระบบประปา
        (2.2.2) ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
        (2.2.3) ระบบระบายน้ำฝน
        (2.2.4) ระบบจัดการมูลฝอย
        (2.2.5) ระบบระบายอากาศ
        (2.2.6) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
    (2.3) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
        (2.3.1) บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
        (2.3.2) เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
        (2.3.3) ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
        (2.3.4) ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
        (2.3.5) ระบบลิฟต์ดับเพลิง
        (2.3.6) ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
        (2.3.7) ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
        (2.3.8) ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
        (2.3.9) ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
        (2.3.10) ระบบป้องกันฟ้าผ่า

(3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร ได้แก่
    (3.1) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
    (3.2) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
    (3.2) สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงไหม้

(4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร ได้แก่
    (4.1) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
    (4.2) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
    (4.3) แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
    (4.4) แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

ผู้ตรวจสอบอาคาร
ผู้ตรวจสอบจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ได้ โดยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา
      (ก) มีสัญชาติไทย
      (ข) ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
            หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก แล้วแต่กรณี
      (ค) ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพอาคาร และอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
      (ง) ไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบในระยะเวลาสองปีก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ

(2) ถ้าเป็นนิติบุคคล
      (ก) ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทย และมีผู้เป็นหุ้นส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่
           น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการทั้งหมด 
      (ข)ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิกแล้วแต่ กรณี    
      (ค) สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพอาคาร และอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
      (ง)  สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลตาม (ค) ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบในระยะเวลาสองปีก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ

            สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคล ได้แก่ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลในการตรวจสอบอาคาร

            ผู้ตรวจสอบดังกล่าวต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคาร โดยจะได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ตามแบบ รต. 1 จากคณะกรรมการควบคุมอาคาร
             

หน้าที่เจ้าของอาคาร

1. เจ้าของอาคารต้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร และคู่มือปฏิบัติตามแผนดังกล่าวที่ผู้ตรวจสอบได้จัดทำไว้ในการตรวจสอบใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษา และการบันทึกข้อมูล การตรวจบำรุงรักษาอาคาร นอกจากนี้ยังต้องจัดให้มีการบำรุงรักษาอาคาร และอุปกรณ์ประกอบอาคารตามคู่มือปฏิบัติของผู้ผลิตหรือผู้ติดตั้งระบบ และอุปกรณ์อาคาร หรือตามแผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาที่ผู้ตรวจสอบกำหนด และจัดให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษา อาคารตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด
             หากผู้ตรวจสอบเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ควรดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จแล้วให้ผู้ตรวจสอบทำการตรวจสอบอีกครั้งแล้วทำรายงานเสนอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

2. เจ้าของอาคารต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบของอาคารและอุปกรณ์ของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี โดยจะต้องเสนอในสามสิบวันวันก่อนวันที่ใบรับรองการตรวจสอบอาคารฉบับเดิมจะมีระยะเวลาครบหนึ่งปี เมื่อได้รับใบรับรองการตรวจสอบแล้วให้แสดงใบรับรองการตรวจสอบไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายณอาคารนั้น (ใบรับรองการตรวจสอบอาคารสามารถเปิดดูได้จากเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง)

3.สำหรับอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือได้รับใบรับรองประเภทอาคารควบคุมการใช้มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประเภทการตรวจสอบใหญ่เป็นครั้งแรก

การยื่นเอกสาร

การยื่นเอกสาร เจ้าของอาคารจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารที่ผู้ตรวจสอบลงนามรับรองให้แก่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่อาคารของตนตั้งอยู่ ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร ได้แก่

  • นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
  • นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
  • ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
  • นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา

หน้าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น

เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับรายงานผลการตรวจสอบแล้วจะต้องพิจารณารายงานผลการตรวจสอบภายใน 30วันและเมื่อเห็นว่าอาคารดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและมีความปลอดภัย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องออกใบรับรองการตรวจสอบ สภาพอาคาร โดยไม่ชักช้าและต้องไม่เกิน      30 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ


บทกำหนดโทษ

    1. จำคุกไม่เกิน 3 เดือน  หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

    2. ปรับเป็นรายวันๆ ละไม่เกิน 10,000 บาท

ไม่แก้ไขตัวอาคารหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่ง (มาตรา 65 จัตวา)

    3. ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

    4. ปรับเป็นรายวันๆ ละ ไม่เกิน 5,000 บาท

     

      




               




 

 



Copyright (c) 2009 by Building Inspection Team